1. ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย: หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต
ภาษาอังกฤษ: Bachelor of Nursing Science Program
2. ชื่อปริญญา
ภาษาไทย : (ชื่อเต็ม) พยาบาลศาสตรบัณฑิต
ภาษาไทย : (ชื่อย่อ) พย.บ.
ภาษาอังกฤษ : (ชื่อเต็ม) Bachelor of Nursing Science
ภาษาอังกฤษ : (ชื่อย่อ) B.N.S.
3. จำนวนหน่วยกิตที่เรียนตลอดหลักสูตร
ไม่น้อยกว่า 180 หน่วยกิต
รูปแบบของหลักสูตร
4.1 รูปแบบ หลักสูตรระดับปริญญาตรี (4 ปี) ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาพยาบาลศาสตร์ พ.ศ. 2552 และตามมาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2558
4.2 ประเภทของหลักสูตร เป็นหลักสูตรปริญญาตรีทางวิชาชีพ
4.3 ภาษาที่ใช้ ภาษาไทย
4.4 การรับเข้าศึกษา รับนักศึกษาไทยที่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ทั้งการพูด อ่าน และเขียน
4.5 ความร่วมมือกับสถาบันอื่น เป็นหลักสูตรเฉพาะของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
4.6 การให้ปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ให้ปริญญาเพียงสาขาวิชาเดียว
ปรัชญาความสำคัญของหลักสูตร
สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มีความเชื่อว่าบุคคลมีความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เป็นกระบวนปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย และความรู้อันเป็นสากล ทำให้บุคคลมีความสามารถในการประกอบอาชีพ รู้จักพึ่งตนเอง มีความริเริ่มสร้างสรรค์ สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง และใฝ่รู้เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
สุขภาพเป็นสุขภาวะที่ทุกคนปรารถนาให้ตนเองปลอดภัยจากความเจ็บป่วยและสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข การพยาบาล เป็นการปฏิบัติการดูแลสุขภาพต่อมนุษย์ทุกช่วงวัย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน ด้วยการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสุขภาพ และการดูแลรักษาสุขภาพ โดยบูรณาการความรู้จากศาสตร์การพยาบาลและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง หลักฐานเชิงประจักษ์ จริยธรรม จรรยาบรรณวิชา เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี สามารถดำรงชีวิตอย่างปลอดภัยและมีความสุขอย่างเต็มศักยภาพ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีมีปรัชญาในการผลิตบัณฑิตให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของบัณฑิต 4 ประการ คือ บัณฑิตควรเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ในปัจจัยมนุษย์ (Humanware) ปัจจัยองค์กร (Orgaware) ปัจจัยข่าวสาร (Infoware) และควรมีความรู้ความชำนาญในปัจจัยเทคโนโลยี (Technoware) และเน้นการให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์การทำงานในสถานประกอบการ เอกลักษณ์ (Uniqueness) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี คือ “มหาวิทยาลัยแห่งการสร้างสรรค์นวัตกรรม” ส่วนอัตลักษณ์ (Identity) ของบัณฑิตมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี คือ “บัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้มีภูมิรู้ ภูมิธรรม และภูมิปัญญา”
สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ เชื่อว่าการบูรณาการปัจจัยการผลิตบัณฑิตทั้ง 4 ด้านตามปรัชญาการศึกษาตของมหาวิทยาลัยฯ ผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง จะทำให้บัณฑิตพยาบาล เป็นนักเทคโนโลยีผู้ที่เพียบพร้อมไปด้วยความรู้ คุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ และมีบุคลิกภาพเชิงวิชาชีพที่มีทักษะที่พร้อมปฏิบัติงาน มีจิตบริการ สามารถให้การพยาบาลและการผดุงครรภ์แก่บุคคล ครอบครัว และชุมชน ในด้านการสร้างเสริมและปกป้องสุขภาพ การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสภาพ การดูแลแบบประคับประคองและการดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นความปลอดภัยของผู้รับบริการเป็นสำคัญ คำนึงถึงสิทธิของผู้ป่วย และปฏิบัติการพยาบาลตามมาตรฐานการพยาบาล ให้การพยาบาลโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ มีความไวเชิงวัฒนธรรม ประยุกต์ใช้กระบวนการวิจัยในการแสวงหาความรู้ สร้างสรรค์หรือประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการพยาบาล ทำงานเป็นทีม มีทักษะในสื่อสารทั้งภาษาไทยและภาษาสากล สนใจใฝ่รู้ นำความรู้มาปรับปรุงตนเองและพัฒนาวิชาชีพการพยาบาล ตลอดจนประพฤติปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ มีความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศชาติ ครอบคลุมสมรรถนะทั้ง 8 ด้าน ตามที่สภาวิชาชีพกำหนด และมีคุณลักษณะที่สะท้อนอัตลักษณ์ของบัณฑิตสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ คือ “บัณฑิตพยาบาลนักเทคโนโลยี ผู้มีภูมิรู้ ภูมิธรรม ภูมิปัญญา และภูมิฐาน”
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
วัตถุประสงค์ของหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตได้พัฒนาจากการพิจารณาเกณฑ์มาตรฐาน และข้อมูลต่าง ๆ ดังนี้
– สมรรถนะทางการพยาบาลที่กำหนด โดยสภาการพยาบาล
– กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552
– เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2558
– อัตลักษณ์ของของบัณฑิตสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์
– ความคาดหวังและความต้องการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ได้แก่ ผู้ใช้บัณฑิต นักศึกษาปัจจุบัน 4 ชั้นปี ศิษย์เก่า อาจารย์ ผู้บริหาร และผู้รับบริการสุขภาพ โดยการประชุมกลุ่ม และการสัมภาษณ์
– การเปลี่ยนทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และแนวโน้มการศึกษาในศตวรรษที่ 21
หลังจากพิจารณาเกณฑ์มาตรฐานต่าง ๆ ประกอบกับความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ได้กำหนดวัตถุประสงค์ของหลักสูตร เพื่อผลิตบัณฑิตให้คุณลักษณะตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวังของหลักสูตร (Program learning outcomes) ทั้ง 8 ด้าน
1) มีจิตบริการภายใต้กรอบของกฎหมาย จรรยาบรรณวิชาชีพและความไวเชิงวัฒนธรรม
2) มีความรอบรู้ในศาสตร์และศิลป์ทางการพยาบาลและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
3) สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ เหมาะสม ทันเหตุการณ์บนพื้นฐานของการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์
4) มีทักษะทางสังคมและการปรับตัวในการดำรงชีวิต
5) มีทักษะการสื่อสารภาษาไทยและภาษาอังกฤษทั้งในเชิงวิชาชีพและชีวิตประจำวัน
6) มีทักษะการพยาบาลที่พร้อมปฏิบัติงานโดยตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้รับบริการ
7) สามารถใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และสารสนเทศเพื่อการดูแลสุขภาพ
8) แสดงออกถึงบุคลิกภาพเชิงวิชาชีพ มีภาวะผู้นำ และมีความสามารถในการจัดการทางการพยาบาล
รูปแบบการจัดการเรียนการสอน
- การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem based learning)
- การเรียนรู้แบบร่วมมือกันเรียนรู้ (Cooperative learning)
- การเรียนรู้แบบสืบเสาะ (Inquiry learning)
- การเรียนรู้แบบเพื่อนคู่คิด (Think-paired-share)
- การเรียนรู้แบบจิ๊กซอร์ (Jig-saw learning)
- การเรียนรู้แบบอภิปรายกลุ่มย่อย (Small group discussion)
- การเรียนรู้แบบทีมเป็นฐาน (Team based learning)
- การเรียนรู้โดยใช้เกม (Team game tournament)
- การบรรยายแบบเชิงรุก (Interactive learning)
- การเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษา (Case study)
- การเรียนรู้ในสถานการณ์จำลอง (Simulation learning)
- การเรียนรู้บทบาทสมมติ (Role play learning)
ฯลฯ
การประเมินผล
- การจัดสอบกลางภาค และ/หรือประจำภาค
- การประเมินทักษะทางการพยาบาล
- การสอบทักษะทางคลินิก (Objective Structured Clinical Examination : OSCE)
- การประเมินผลรายงาน
- การประเมินทักษะปฏิบัติการพยาบาล
- การสอบอัตนัยประยุกต์ (Modified essay questions)
คุณสมบัติผู้เข้าศึกษา
1) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญในแผนการเรียนที่เลือกเรียนวิชาเพิ่มเติมทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
2) เป็นผู้มีความประพฤติดี
3) มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่เจ็บป่วยหรือเป็นโรคติดต่อร้ายแรงหรือมีความผิดปกติที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
4) มีคุณสมบัติอื่นครบถ้วน ตามที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีกำหนด
February 3, 2023 - Updated on November 13, 2023