หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2565)

1. ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย: หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต
ภาษาอังกฤษ: Bachelor of Nursing Science Program

2. ชื่อปริญญา
ภาษาไทย : (ชื่อเต็ม) พยาบาลศาสตรบัณฑิต
ภาษาไทย : (ชื่อย่อ) พย.บ.
ภาษาอังกฤษ : (ชื่อเต็ม) Bachelor of Nursing Science
ภาษาอังกฤษ : (ชื่อย่อ) B.N.S.

3. จำนวนหน่วยกิตที่เรียนตลอดหลักสูตร
จำนวน 166 หน่วยกิต

รูปแบบของหลักสูตร

4.1 รูปแบบ หลักสูตรระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาพยาบาลศาสตร์ พ.ศ. 2560 และ ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2558
4.2 ประเภทของหลักสูตร เป็นหลักสูตรปริญญาตรีทางวิชาชีพ
4.3 ภาษาที่ใช้ ภาษาไทย
4.4 การรับเข้าศึกษา รับนักศึกษาที่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ทั้งการพูด อ่าน และเขียน
4.5 ความร่วมมือกับสถาบันอื่น เป็นหลักสูตรเฉพาะของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
4.6 การให้ปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ให้ปริญญาพยาบาลศาสตรบัณฑิตเพียงสาขาวิชาเดียว

ปรัชญาการศึกษา มทส.

     ปรัชญาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เน้นการพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทั้งทางด้านวิชาชีพและวิชาพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเป็นบัณฑิต ทางด้านวิชาชีพจะต้องเน้น ปัจจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Technoware) คือ ความรู้ความสามารถในเทคโนโลยีแขนงต่าง ๆ ส่วนทางด้านวิชาพื้นฐานจะต้องเน้นปัจจัยมนุษย์ (Humanware) คือ ความรู้ความสามารถโดยทั่วไปฐานะมนุษย์ผู้ใช้เทคโนโลยี ปัจจัยข่าวสาร (Infoware) ความสามารถในการรับ-ส่งข่าวสารข้อมูลด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ และปัจจัยองค์กร (Orgaware) ความสามารถทางการจัดการองค์กรเพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยี

 

ปรัชญาของหลักสูตร

         หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2565) สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มีความเชื่อว่า การพยาบาลคือการนำองค์ความรู้ วิจัย นวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาสุขภาพอย่างยั่งยืน การจัดการศึกษาเพื่อให้บรรลุการพยาบาลข้างต้นจึงจัดการเรียนรู้แบบเน้นกระบวนการแก้ปัญหา ส่งเสริมให้ผู้เรียนมองเห็นโอกาสและลงมือกระทำ เพื่อให้บัณฑิตมีแนวคิดของความเป็นผู้ประกอบการที่มีภูมิรู้ ภูมิธรรม ภูมิปัญญา และภูมิฐาน

    หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2565) มีความสำคัญอย่างยิ่งในการ
ผลิตบัณฑิตพยาบาลที่มีสมรรถนะในการมองโอกาสและลงมือทำ (Entrepreneurship) มีการเรียนรู้ด้วย
ตนเอง มีความรับผิดชอบการเรียนรู้และสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) สามารถนำความรู้มาใช้ในการประเมินภาวะสุขภาพ คิดวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพของบุคคลทุกช่วงวัยและแก้ปัญหาด้วยการออกแบบบริการพยาบาลอย่างสร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นนักจัดการสุขภาพในคลินิกรายกรณี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ และโรคติดต่ออุบัติใหม่ มีความกล้าหาญทางจริยธรรม แสดงภาวะผู้นำทำงานร่วมกับทีบทีมสุขภาพ ใช้ภาษาและติดต่อสื่อสารกับผู้รับบริการได้ชัดเจนรอบรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม เป็นนักค้นคว้าหาความรู้ และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพบริการพยาบาล และมีจิตอาสาเพื่อพัฒนาวิชาชีพและสังคม

ดังนั้น สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ จึงเน้นเรื่องทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving Skills) และการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence Base Practice)

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

  1. มีความรู้ในศาสตร์ทางการพยาบาลและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
  2. มีทักษะปฏิบัติการพยาบาลและการผดุงครรภ์ โดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ มีความไวเชิงวัฒนธรรมและเรียนรู้ตลอดชีวิต มีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (Empathy) มีความสามารถในการแก้ปัญหาและฟันฝ่าอุปสรรค (Resilience)
  3. มีความรอบรู้ (Literacy) ในการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ (Medical Technology) เทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศ วิจัยและนวัตกรรมทางการพยาบาล
  4. มีความประพฤติภายใต้กรอบจริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ และหลักกฎหมาย
  5. มีความกล้าในการคิดค้น สร้างสรรค์นวัตกรรม และมีแนวคิดความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial mindset)
  1. วางแผนการพยาบาลโดยประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิชาการและวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ (PLO1)
  2. ปฏิบัติการพยาบาลและผดุงครรภ์ที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานวิชาชีพ (PLO2)
  3. แสดงออกถึงการมีคุณธรรม จริยธรรมวิชาชีพและจรรยาบรรณวิชาชีพโดยคำนึงถึงความไวเชิงวัฒนธรรม (PLO3)
  4. สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ (PLO4)
  5. ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ เทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศ วิจัยและนวัตกรรม (PLO5)
  6. ทำงานเป็นทีม (PLO6)
  7. คิดวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหา (PLO7)
  8. พัฒนาวิจัยหรือนวัตกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (PLO8)

รูปแบบการจัดการเรียนการสอน

  1. การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem based learning)
  2. การเรียนรู้แบบร่วมมือกันเรียนรู้ (Cooperative learning)
  3. การเรียนรู้แบบสืบเสาะ (Inquiry learning)
  4. การเรียนรู้แบบเพื่อนคู่คิด (Think-paired-share)
  5. การเรียนรู้แบบจิ๊กซอร์ (Jig-saw learning)
  6. การเรียนรู้แบบอภิปรายกลุ่มย่อย (Small group discussion)
  7. การเรียนรู้แบบทีมเป็นฐาน (Team based learning)
  8. การเรียนรู้โดยใช้เกม (Team game tournament)
  9. การบรรยายแบบเชิงรุก (Interactive learning)
  10. การเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษา (Case study)
  11. การเรียนรู้ในสถานการณ์จำลอง (Simulation learning)
  12. การเรียนรู้บทบาทสมมติ (Role play learning)

ฯลฯ

การประเมินผล

  1. การจัดสอบกลางภาค และ/หรือประจำภาค
  2. การประเมินทักษะทางการพยาบาล
  3. การสอบทักษะทางคลินิก (Objective Structured Clinical Examination : OSCE)
  4. การประเมินผลรายงาน
  5. การประเมินทักษะปฏิบัติการพยาบาล
  6. การสอบอัตนัยประยุกต์ (Modified essay questions)

คุณสมบัติผู้เข้าศึกษา

1) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญในแผนการเรียนที่เลือกเรียนวิชาเพิ่มเติมทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
2) เป็นผู้มีความประพฤติดี
3) มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่เจ็บป่วยหรือเป็นโรคติดต่อร้ายแรงหรือมีความผิดปกติที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
4) มีคุณสมบัติอื่นครบถ้วน ตามที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีกำหนด

Scroll to Top